สถานการณ์ของคนตาบอดในประเทศไทย

จากสถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั่วประเทศ ทั้งหมด 1,918,867 ราย ซึ่งมีจำนวนคนพิการทางการเห็น 181,821 ราย แบ่งเป็น ชายจำนวน 87,081 ราย และหญิงจำนวน 94,740 ราย โดยยังไม่รวมถึงจำนวนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนไว้ (ข้อมูลวันที่ 2 พ.ย. 2558)
สถิติข้อมูลคนพิการทางการเห็น
เพศชาย 87,081 ราย                      เพศหญิง 94,740 ราย


ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกรวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้แก่คนในสังคมเป็นอย่างมากซึ่งก็รวมถึงการสร้างประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้พิการทางสายตาด้วยเช่นกัน เช่น การใช้ICT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหนังสืออักษรเบรลล์การประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์นำทาง รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประโยชน์ประการหลังนี้ได้ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ การติดต่อสื่อสาร การประกอบอาชีพ และการพักผ่อนหย่อนใจของผู้พิการทางสายตาให้กว้างไกลในลักษณะที่เท่าเทียมและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับบุคคลทั่วไป


จะเห็นได้ว่าจำนวนของความต้องการที่จะใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านนี้ ก็มีจำนวนมากอยู่พอสมควร แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินการเกี่ยวกับการให้การช่วยเหลือและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดจึงทำให้คนตาบอดส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ด้อยโอกาส โดยปรากฏว่ามีคนตาบอดจำนวนไม่ถึง 10% ที่มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ การศึกษา และการฝึกอาชีพ ขณะที่มีคนตาบอดจำนวนต่ำกว่า 5% มีโอกาสได้ประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวรวมทั้งมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาสังคมในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ


ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประชากรบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ทั้งกลุ่มวัยผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ดังนั้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้คนพิการและผู้สูงอายุได้มีโอกาสในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังขาดการดำเนินการในส่วนนี้เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน แม้จะมีการตราพระราชบัญญัติกฎกระทรวง หรือระเบียบต่างๆ สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพและผู้สูงอายุขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ขาดการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น